"ภาพชุดพระเจ้าอ็องรี" ของ ภาพชุดพระราชินีมารี เดอ เมดีซิส

"การคืนดีระหว่างพระเจ้าอ็องรีที่ 3 แห่งฝรั่งเศส และ พระเจ้าอ็องรีแห่งนาวาร์"

สัญญาจ้างการเขียน "ภาพชุดพระราชินีมารี" เดิมรวมการเขียน "ภาพชุดพระเจ้าอ็องรี" ด้วย แต่ชุดหลังเป็นชุดที่รือเบินส์เขียนไม่เสร็จแม้ว่าจะทำการเริ่มเขียนไม่นานหลังจากเขียนภาพชุดแรกเสร็จ "ภาพชุดพระเจ้าอ็องรี" ตั้งใจเป็นภาพขนาดใหญ่ยี่สิบสี่ภาพที่จะบรรยายเหตุการณ์ต่าง ๆ ในชีวิตของพระเจ้าอ็องรี "ที่ทรงประสบ, การสงครามที่ทรงเข้าร่วม, ชัยชนะที่ทรงได้รับ และการตีเมืองต่าง ๆ และทรงได้รับชัยชนะ"[118]ภาพสองชุดนี้ออกแบบให้มาพบกันที่ห้องโค้งกลางที่เชื่อมระเบียงแสดงภาพของแต่ละชุด ภาพของแต่ละชุดก็แสดงเป็นคู่ที่รวมหมดทั้งสองชุดแล้วก็จะเป็นสี่สิบแปดภาพ[119]

รือเบินส์ดูเหมือนจะไม่ได้ร่าง "ภาพชุดพระเจ้าอ็องรี" ขณะที่เขียนภาพชุดแรก ในจดหมายฉบับหนึ่งรือเบินส์กล่าวถึงภาพเขียนชุดที่สองนี้ว่าเป็น "ภาพชุดที่ใหญ่โตมโหฬารที่พอที่จะตั้งแสดงในระเบียงแสดงภาพสิบระเบียง" ได้ และจากจดหมายอีกฉบับหนึ่งลงวันที่ 27 มกราคม ค.ศ. 1628 ก็พอจะสรุปได้ว่ารือเบินส์ไม่ได้ทำงานร่างภาพชุดนี้เท่าใดนักก่อนวันที่กล่าว[120] ในบรรดาภาพร่างสีน้ำมันที่เขียนต่อมามีเก้าภาพเท่านั้นที่ยังเหลืออยู่และอีกห้าที่ยังร่างไม่เสร็จ ภาพร่างส่วนใหญ่เป็นภาพเหตุการณ์การยุทธการที่พระเจ้าอ็องรีทรงเข้าร่วม[121] เช่น "การยึดกรุงปารีส"

สิ่งสำคัญที่ควรสังเกตคือเหตุผลที่เขียนไม่เสร็จเป็นเพราะสถานการณ์ทางการเมืองที่ผันผวนที่เกิดขึ้นในขณะนั้น เมื่อพระราชินีมารีทรงถูกห้ามไม่ให้เข้าปารีสในปี ค.ศ. 1631 เมื่ออาร์ม็อง ฌ็อง ดูว์ เปลซี เดอ รีเชอลีเยอมามีอิทธิพลต่อพระเจ้าหลุยส์[122] ซึ่งทำให้รือเบินส์ต้องเลิกทำโครงการทั้งหมดเพราะการอนุมัติงานถูกเลื่อนไปหลายครั้งโดยทางราชสำนัก[121] รีเชอลีเยอผู้มามีอิทธิพลต่อโครงการนี้ไม่ยอมเจรจากับรือเบินส์เกี่ยวกับการดำเนินโครงการให้จบ โดยอ้างว่ามีภาระอื่นเกี่ยวกับการบริหารบ้านเมืองที่ทำให้ไม่สามารถทำให้มีโอกาสพิจารณาการอนุมัติได้[122] แต่สาเหตุที่แท้จริงของรีเชอลีเยอน่าจะมาจากเหตุผลทางการเมืองมากกว่าที่จะมาจากตัวรือเบินส์เอง ขณะนั้นรือเบินส์ไปพำนักอยู่ที่มาดริดเพื่อเตรียมตัวในกิจการทางทูตไปยังลอนดอน เพื่อทำการเจรจาต่อรองระหว่างสเปนและอังกฤษ ซึ่งเท่ากับรือเบินส์ไปทำงานให้กับฝ่ายที่เป็นปฏิปักษ์ต่อนโยบายทางการเมืองของฝรั่งเศส[118] ฉะนั้นรีเชอลีเยอจึงหันไปพยายามหาจิตรกรอิตาลีมาทำโครงการนี้แทนรือเบินส์ จึงเป็นผลให้รือเบินส์มีโอกาสเขียนภาพชุดหลังนี้เป็นพัก ๆ เท่านั้น และหลังจากพระราชินีมารีทรงถูกสั่งไม่ให้เข้าปารีสในปี ค.ศ. 1631 แล้วโครงการก็ถูกพับเลิกไปอย่างถาวร[122] ซึ่งก็เป็นที่น่าเสียดายโดยเฉพาะสำหรับรือเบินส์ผู้เห็นว่าโครงการนี้และโดยเฉพาะโครงการหลังจะเป็นโครงการที่เพิ่มพูนชื่อเสียงให้แก่ตนเองมากยิ่งขึ้น[118]

ภาพร่างที่สำคัญในชุดนี้ชื่อ "การคืนดีระหว่างพระเจ้าเฮนรีที่ 3 และพระเจ้าอ็องรีแห่งนาวาร์" ซึ่งเป็นเหตุการณ์สำคัญเมื่อพระเจ้าอ็องรีที่ 4 ขึ้นครองราชย์ หลังจากการเสียชีวิตของดยุกแห่งอองชูพระอนุชาของพระเจ้าอ็องรีที่ 3 ผู้ไม่มีรัชทายาท ฐานะของทายาทผู้มีสิทธิโดยตรงจึงตกมาเป็นของพระเจ้าอ็องรีแห่งนาวาร์ (ผู้ต่อมาขึ้นครองราชย์เป็นพระเจ้าอ็องรีที่ 4 แห่งฝรั่งเศส) แต่พระสันตะปาปาทรงออกพระบัญญัติประกาศไม่ไห้ทรงขึ้นครองราชบัลลังก์และคว่ำบาตรพระองค์ อองรีแห่งนาวาร์ก็ทรงประท้วงโดยการเข้าทำสงครามสามอองรี เมื่อพระเจ้าอ็องรีที่ 3 ทรงถูกขับออกจากปารีสหลังจากที่ทรงเข้าไปมีส่วนพัวพันกับการฆาตกรรมฟร็องซัว ดุ๊กแห่งกีซแล้ว พระองค์ก็เสด็จไปพบกับอองรีแห่งนาวาร์เพื่อทรงสร้างความเป็นพันธมิตรและให้การรับรองว่าอองรีเป็นพระมหากษัตริย์ที่ถูกต้องของนาวาร์ แม้ว่ารือเบินส์จะเขียนฉากการพบปะกันครั้งนี้ภายในท้องพระโรง แต่บันทึกร่วมสมัยกล่าวว่าทั้งสองพระองค์ทรงพบกันในสวนที่เต็มไปด้วยผู้มาดูเหตุการณ์ ภาพร่างที่เป็นภาพของอองรีแห่งนาวาร์ทรงโค้งคำนับพระเจ้าอ็องรีที่ 3 นั้นถูกต้องตามความเป็นจริง รือเบินส์ใช้ยุวเทพถือมงกุฎของพระเจ้าอ็องรีที่ 3 ที่ตั้งใจที่จะมาสวมให้อองรีแห่งนาวาร์ในอนาคต แม้ว่าการเปลี่ยนมือจะไม่ได้เกิดขึ้นจนหลังจากพระเจ้าอ็องรีที่ 3 ทรงถูกปลงพระชนม์ไปแล้วหลายเดือนต่อมาเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม ค.ศ. 1589 ก็ตาม เด็กรับใช้ที่ยืนอยู่ข้างหลังอองรีแห่งนาวาร์ถือตราประจำพระองค์ ขณะที่สุนัขเป็นเครื่องหมายของความจงรักภักดี ตัวแบบสองตัวหลังพระเจ้าอ็องรีที่ 3 น่าจะเป็นบุคลาธิษฐานของความฉ้อโกงและเหตุการณ์ที่ผันผวน[123]

หัวใจของ "ภาพชุดพระเจ้าอ็องรี" ตั้งใจที่จะเป็นภาพที่แสดงให้เห็นถึงพระปรีชาสามารถทางการทหารของพระองค์ เนื้อหาของความรุนแรงความมีพลังในภาพชุดนี้จะตรงกันข้ามกับภาพที่ส่วนใหญ่เป็นความสงบสุขใน "ภาพชุดพระราชินีมารี"[124] ภาพ "ยุทธการอีวรี" บนผนังด้านตะวันออกเป็นฉากชัยชนะอย่างเด็ดขาดที่ทรงได้รับในการยึดปารีส สีส่วนใหญ่เป็นสีเทาแต่พระเจ้าอ็องรีทรงสีแดงก่ำที่เด่นออกมาจากภาพ ทรงยืนอยู่กลางภาพถือดาบเพลิง ทหารที่ตามมาอยู่ในสภาพที่ปั่นป่วน[125] ภาพนี้เป็นภาพที่คู่กับภาพ "พระราชพิธีบรมราชาภิเษก" ในชุดของพระราชินีมารี[124]

"การเข้าเมืองปารีส" อยู่ทางด้านเหนือสุดของระเบียงภาพที่เป็นภาพยุทธการครั้งสุดท้ายที่ทรงต่อสู้ซึ่งตั้งอยู่ตรงจุดที่เด่นที่สุด รือเบินส์ต้องการจะให้เป็นภาพที่สำคัญที่สุดในชุดและเขียนไปได้มากแล้ว[126] ภาพนี้เป็นภาพพระเจ้าอ็องรีเสด็จเข้ากรุงปารีสในฉลองพระองค์แบบจักรพรรดิโรมันผู้ทรงถือช่อมะกอกที่เป็นสัญลักษณ์ของความสันติสุข แต่ตามความเป็นจริงแล้วพระองค์มิได้เสด็จเข้าปารีสเช่นในภาพ ฉะนั้นภาพจึงเป็นแต่เพียงสัญลักษณ์ของชัยชนะของพระองค์เท่านั้น การวางท่าและฉาก (สิ่งก่อสร้างและประตูชัย) ไม่สามารถใช้ได้ในปารีสขณะนั้นซึ่งเป็นการสร้างอุปมัยว่าพระเจ้าอ็องรียังเป็นพระมหากษัตริย์แห่งฝรั่งเศส[127]